สืบสานประเพณีโบราณ…แต่งงานแบบไทยแท้
สาวๆ หลายคนต่างมีความหวังที่จะได้จัดงานวิวาห์ในแบบที่ตัวเองใฝ่ฝัน แต่อีกส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือช่วงพิธีการตอนเช้า ซึ่งในแต่ละครอบครัวมักจะจัดพิธีมงคลสมรสกันตามศาสนา และประเพณีที่ตนเองนับถืออยู่ โดยขั้นตอนในแต่ละส่วนอาจแตกต่างกันบ้างตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่นค่ะ แต่ขอให้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไว้เป็นพอ
The Wedding Home ถือโอกาสนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับประเพณีการแต่งงานแบบไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณมาฝากว่าที่คู่บ่าวสาวกัน เพื่อให้การเตรียมตัวเข้าพิธีวิวาห์ในแบบฉบับไทยแท้เปี่ยมเสน่ห์เป็นที่น่าจดจำตลอดไปค่ะ
ประเพณีการแต่งงานแบบไทยนั้นแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ การรับหมั้นและการแต่งงานค่ะ
โดยหนุ่มสาวที่คบหาดูใจกันมานานพอสมควรแล้ว ฝ่ายชายก็จะไปเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิงกับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง
หลังจากที่ตกลงกันแล้วก็จะหาฤกษ์และกำหนดพิธีรับหมั้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายศึกษานิสัยใจคอ เรียนรู้ และปรับตัวเข้าหากันก่อนการแต่งงานค่ะ
ขั้นตอนต่อมาก็คือการแต่งงาน ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะจัดพิธีการแต่งงานขึ้นเพื่อเป็นการประกาศให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองยินดีจะยกลูกสาวและลูกชายของตนให้อีกฝ่ายหนึ่ง
หลังจากที่หนุ่มสาวทั้งสองคนหมั้นหมายกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ในขั้นตอนนี้จะมีการทำบุญทำทาน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาวด้วย
แต่ในปัจจุบันนิยมจัดพิธีรับหมั้นในช่วงเช้าและแต่งงานในวันเดียวกัน เพื่อความสะดวก และข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การเดินทาง เวลา และงบประมาณ แม้ว่าสมัยก่อนอาจหมั้นกันแล้วสักระยะช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันนิยมทำพิธีแต่งงานต่อเนื่องกันไปเลย
ขันหมากไทย ประกอบด้วย ชุดขันหมากเอก ได้แก่ พานขันหมาก พานสินสอด พานธูปเทียนแพ ถ้าจัดรวมกับงานหมั้นก็มีพานแหวนด้วย
ส่วนเครื่องขันหมากก็จะมีขนมมงคล ต้นกล้วย ต้นอ้อย ประดับกระดาษแดง ไก่ต้ม หมู มะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม สุรา ฯลฯ โดยจัดเป็นคู่ทุกถาด อาหารสดและผ้าไหว้จัดไว้สำหรับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เครื่องบริวารขันหมากนิยมจัดอย่างน้อย 9 คู่ และมีกลองยาวนำหน้าขบวนให้ครึกครื้น
แต่เนื่องจากปัจจุบันมักจัดพิธีรับหมั้นและแต่งงานภายในวันเดียวกัน ซึ่งบางครอบครัวก็ต้องการเฉพาะขันหมากที่จำเป็นเท่านั้น ประกอบไปด้วย พานขันหมาก บรรจุหมากพลู ใบไม้มงคล ถุงถั่วงา พานสินสอดทองหมั้น พานแหวน พานธูปเทียนแพสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ ส่วนชุดขันหมากโท เช่น พานต้นกล้วย อ้อย ผลไม้ ขนมมงคล 9 สิ่ง จัดให้ลงตัวเป็นจำนวนคู่ ตามแต่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน สำหรับฝ่ายหญิงนั้น จะต้องจัดเตรียม พานเชิญขันหมาก ไว้สำหรับต้อนรับขันหมากของฝ่ายชายด้วยค่ะ
ขั้นตอนพิธีการรับหมั้น
ในขบวนขันหมากของฝ่ายชาย จะต้องจัดแถวและเดินเป็นคู่ โดยจะมีคู่ของเถ้าแก่เดินนำหน้า และตามด้วยคุณพ่อคุณแม่ของว่าที่คู่หมั้น (หากท่านใดท่านหนึ่งไม่อยู่ก็ให้ญาติแทนได้ค่ะ)
จากนั้นจะเป็นว่าที่คู่หมั้น ซึ่งเดินคนเดียว (เพราะคู่รออยู่ด้านในแล้วค่ะ) โดยทั้งเถ้าแก่, คุณพ่อคุณแม่ และ ว่าที่คู่หมั้น ไม่ต้องถือของในขบวนขันหมากค่ะ
เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว ฝ่ายหญิงให้จัดผู้ใหญ่ที่เป็นสามี ภรรยา 1 คู่ ออกไปต้อนรับ พร้อมถือพานเชิญขันหมากออกไปด้วย และมีการพูดคุยกล่าวต้อนรับกันระหว่าง เถ้าแก่ฝ่ายชาย และ ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง
เมื่อเจรจาขอนำเครื่องขันหมากเข้าไปทำพิธี จนฝ่ายหญิงอนุญาตและส่งพานเชิญขันหมากให้แล้ว ขบวนขันหมากจึงเข้าสู่พิธีในขั้นตอนต่อไปได้
ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะถึงเวลาที่ขบวนขั้นหมากจะต้องผ่านการกั้นประตู เช่น ประตูเงิน ประตูนาก และประตูทองเสียก่อน แต่ในปัจจุบัน ก็จะมีการกั้นประตูเพื่อความสนุกสนาน หลายประตูทีเดียว ดังนั้นให้ว่าที่คู่หมั้นเตรียมเงินใส่ซองไว้ด้วย เพื่อขอผ่านประตูตามที่นายประตูพึงพอใจ แล้วจึงจะเข้ามาในบ้านฝ่ายหญิงได้
เพื่อป้องกันความสับสน ว่าที่คู่หมั้นควรเตรียมเงินใส่ซองไว้แตกต่างกันเป็นเลขคู่ เช่น ซองละ 40 บาท ซองละ 80 บาท หรือ ซองละ 100 บาท โดยทำสัญลักษณ์แต่ละซองให้รู้ว่าซองไหนมีเงินอยู่เท่าไหร่ และนำซองไว้ให้กับคนที่จะแจกซอง โดยบอกกล่าวไว้ก่อนเลยว่าจะแจกซองให้คนกั้นประตู อย่างไรบ้าง เพื่อคุณว่าที่คู่หมั้นที่อยู่ในขบวนจะได้ยิ้มอย่างเดียวค่ะ ไม่ต้องกังวลคอยหยิบซองออกจากกระเป๋าของตัวเอง
เมื่อขบวนขันหมากเข้ามาในบ้านได้แล้ว ก็จะนำชุดขันหมากเอก อันได้แก่ พานขันหมากพานสินสอด พานแหวน และพานธูปเทียนแพ มาจัดวางไว้บริเวณที่ทำพิธีนับสินสอด ส่วนพานอื่นๆ ก็นำไปวางในส่วนที่จัดเตรียมไว้ แล้วเถ้าแก่ของฝ่ายชาย ก็จะเริ่มเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง โดยมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย และว่าที่คู่หมั้นฝ่ายชายนั่งล้อมวงอยู่ด้วย (ตอนนี้ว่าที่คู่หมั้นฝ่ายหญิงยังถูกเก็บตัวอยู่นะคะ ยังไม่ได้พบหน้ากันค่ะ) หลังจากนั้นจึงเริ่มการเปิดพานสินสอดโดยการปูผ้าห่อขันหมากที่พื้น จากนั้น หยิบใบเงิน ใบทอง ใบนากเรียงบนผ้าก่อน แล้ววางสินสอดลง จากนั้นผู้ใหญ่ก็จะโปรย ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ไว้ข้างบน เพื่อความเป็นมงคล
จากนั้นคุณแม่ว่าที่คู่หมั้นฝ่ายหญิง จะห่อผ้าสินสอดแบกขึ้นบ่าตามประเพณี แล้วพูดเอาเคล็ดว่า “ห่อเงินนี้หนักเสียจริงๆ คงจะมีเงินทองงอกเงยออกมามากมาย เต็มบ้าน” บ้านไหนที่คุณแม่ขี้อาย เวลาพูดก็ตะกุกตะกัก เรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งงานเลย ก็เป็นความน่ารักอีกแบบค่ะ
จากนั้นก็ถึงเวลาที่จะให้ผู้ใหญ่ที่เป็นสามี ภรรยากัน 1 คู่ ของฝ่ายหญิง (ใช้คู่ใหม่หรือคู่เดิมที่ถือพานเชิญขันหมากก็ได้) นำตัวว่าที่คู่หมั้นฝ่ายหญิงมาส่งให้ฝ่ายชาย เพื่อทำพิธีสวมแหวนต่อไป จากนั้นก็จะเป็นการสวมแหวนให้กัน (ตามประเพณีแล้วฝ่ายหญิงไม่ต้องมีแหวนให้ฝ่ายชาย เพราะนี่คือพิธีรับหมั้น คือรับอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันก็มักจะมีแหวนของฝ่ายชายให้ฝ่ายหญิงเสมอ) ซึ่งเมื่อสวมแหวนเสร็จแล้ว ทั้งสองคนก็จะเป็นคู่หมั้นกันแล้วค่ะ จากนั้นคู่หมั้น ทั้งสองคน ก็ต้องไหว้ขอบคุณ เถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายโดยการไหว้ที่ตัก และนำพานธูปเทียนแพ มาไหว้คุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่ายโดยกราบแบบพนมมือที่เท้าของท่าน เป็นอันจบพิธีรับหมั้นค่ะ
พิธีแต่งงาน
พิธีแต่งงานจะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์ ซึ่งมักนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ในระหว่างนั้น ว่าที่เจ้าบ่าว และว่าที่เจ้าสาว ก็ตักบาตรร่วมกัน ซึ่งควรจะตักบาตร ขณะที่พระสงฆ์ถวายพรพระ (พาหุง) ซึ่งในการตักบาตรนั้น ก็ตักเฉพาะข้าวสวย ใส่ในบาตรเท่านั้นนะคะ ถ้ามีกับข้าว ก็แยกถวายต่างหากค่ะ (ถือกันว่า ขณะตักบาตร หากฝ่ายใดกุมมืออีกฝ่ายหนึ่งไว้ จะเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า ดังนั้นจึงนิยมผลัดกันกุมมือแต่ละฝ่ายขณะตักบาตร) ในช่วงนี้หลังจากพระสงฆ์ฉันภัตตาหารและสวดให้ศีลให้พรแล้ว ว่าที่บ่าวสาวก็ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ แล้วรับน้ำพระพุทธมนต์ค่ะ
บางครอบครัวอาจมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พระภูมิเจ้าที่ เทวดา พระแม่คงคา พระแม่ธรณี ผีบ้าน ผีเรือน และสัมภเวสีค่ะ เพื่อเป็นการทำบุญทำทาน เพราะบ้านเรามีงานบุญ (เขาว่ากันว่าบ้านไหนมีงานบุญบ้านนั้นจะมีกลิ่นหอมค่ะ) ซึ่งมักกระทำในที่กลางแจ้ง โดยใช้โต๊ะปูด้วยผ้าขาว วางอาหารเซ่นไหว้ต่างๆ เพื่อให้ว่าที่บ่าวสาวอยู่เย็นเป็นสุข ชีวิตคู่มั่นคง เจริญก้าวหน้า
พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร
ขั้นตอนนี้เท่ากับว่าได้ดำเนินมาครึ่งทางแล้วนะคะ คงต้องกระซิบกับว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวหน่อยว่าให้เอาแป้งพัฟส์มาโบ๊ะหน้า เดี๋ยวหน้ามัน ถ่ายรูปไม่สวยเอาค่ะ
เมื่อได้เวลาฤกษ์ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย โดยให้ว่าที่บ่าวสาวถือเทียนชนวนด้วยกัน แล้วเริ่มจุดที่เทียนเล่มซ้ายมือเราก่อน (ขวาของพระพุทธรูป) แล้วจึงเป็นเล่มขวา ห้ามจุดเล่มขวาก่อนเด็ดขาดนะคะ อันนั้นสำหรับงานอวมงคลเช่นงานศพ
จากนั้นจุดธูปซึ่งปักรอไว้แล้วในกระถางธูปจำนวน 3 ดอกโดยเริ่มที่ดอกตรงกลางก่อน แล้วจึงไปจุดที่ดอกซ้ายและขวาตามลำดับ
จากนั้นให้ว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว เดินมาที่ตั่งหลั่งน้ำสังข์แล้วไหว้ขอบคุณแขกและญาติทุกท่าน 1 ครั้ง ก่อนลงนั่งบนตั่งคู่กัน (ทิศทางการตั้งตั่งหลั่งน้ำสังข์ต้องหันหน้าออกทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือเท่านั้น) โดยฝ่ายหญิงนั่งทางซ้ายมือของฝ่ายชาย มีเพื่อนว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ยืนเป็นเพื่อนอยู่ข้างหลัง จะกี่คนก็ได้ค่ะ แต่นับรวมกันแล้วเพื่อนว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว ต้องมีจำนวนเป็นเลขคู่นะคะ (ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีเพื่อนยืนข้างหลังกันแล้ว)
จากนั้นเชิญประธานหรือญาติผู้ใหญ่ 1 คู่ ขึ้นสวมมาลัยให้แก่ว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว ตามด้วยสวมมงคล และเจิมหน้าผาก อวยพรคู่บ่าวสาว และหลั่งน้ำสังข์ประสาทพรให้กับว่าที่บ่าวสาว
เมื่อน้ำสังข์แรกได้หลั่งลงแล้วว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาวของเรา ก็จะเป็น เจ้าบ่าว และ เจ้าสาว หรือสามี ภรรยา โดยสมบูรณ์แล้วค่ะ
จากนั้นจึงเชิญแขกที่มาร่วมงานทยอยหลั่งน้ำสังข์และประสาทพรให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว หรือสามี ภรรยาคู่ใหม่ โดยที่คุณพ่อคุณแม่ของเจ้าสาวเป็นคู่รองสุดท้าย ส่วนคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวเป็นคู่สุดท้าย
น้ำที่หลั่งจากสังข์จะไหลลงบนพานดอกไม้ซึ่งกันไม่ให้น้ำกระเด็นออกไป เมื่อคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวหลั่งน้ำสังข์แล้ว ประธานหรือญาติผู้ใหญ่ 1 คู่ ก็ถอดมงคลแฝดออกโดยถอดพร้อมกันทั้งสองมือ มอบให้แก่บ่าวสาว แล้วจับมือให้ทั้ 2 ลุกขึ้นพร้อมกัน
หลังจากผ่านการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์แล้วบ่าวสาวจะนำพานธูปเทียนแพและผ้าไหว้ ไปทำพิธีไหว้ผู้ใหญ่ ทั้งคุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่ายและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเพื่อขอขมา ฝากเนื้อฝากตัวและแสดงความเคารพ แล้วผู้ใหญ่ก็จะมอบของรับไหว้เป็นเงินทอง หรือของรับไหว้อย่างอื่นตอบแทนมา และบ่าวสาว ก็จะมอบผ้าไหว้ ให้กับผู้ใหญ่ ซึ่ง ผ้าไหว้สมัยก่อน คือผ้าฝ้าย ผ้าแพร ผ้าไหม เพื่อใช้ตัดชุด แต่ปัจจุบันใช้ผ้าขนหนูก็ได้นะคะ
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งงานแบบไทยก็คือการส่งตัวเข้าเรือนหอค่ะ ในขั้นตอนนี้ต้องให้ผู้ใหญ่คู่ที่อยู่กินกันมานานด้วยความสุขเป็นผู้ปูผ้าปูที่นอนให้และทดลองนอนก่อนคู่บ่าวสาวเพื่อเอาเคล็ด จากนั้นผู้ใหญ่ทั้งสองก็พรมน้ำมนต์ และโปรยข้าวตอกดอกไม้เหรียญเงินเหรียญทองลงบนที่นอน
ในสมัยโบราณเมื่อถึงเวลาฤกษ์ ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็พาเจ้าสาวเข้ามา แล้วเจ้าสาวก็ไหว้หรือกราบเจ้าบ่าว ทั้งสองมอบของมีค่าให้แก่กัน (หรือเจ้าบ่าวมอบให้เจ้าสาว) เรียบร้อยแล้วผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวก็กล่าวฝากฝังเจ้าสาวกับเจ้าบ่าว และทุกคนก็ทยอยออกจากห้องไป เหลือเพียงบ่าวสาวลำพัง
แต่ในปัจจุบันผู้ใหญ่ที่จะเป็นผู้ส่งตัวบ่าวสาวมักจะจูงบ่าวสาวเข้าห้องหอพร้อมกันโดยมีเคล็ดให้เจ้าสาวเดินนำหน้าเจ้าบ่าวเดินตามหลัง ไม่มีการกราบเท้าสามีกันแล้ว แต่มักจะมีการให้นั่งฟังคุณพ่อ คุณแม่ของแต่ละฝ่ายอวยพร ฝากฝังรวมถึงให้คติการครองเรือน(อบรม)ก็เป็นอันเสร็จพิธี
ขั้นตอนการแต่งงานตามประเพณีไทยอาจซับซ้อนหลายขั้นตอนไปสักนิด แล้วพิธีการในแต่ละท้องถิ่นก็ไม่เหมือนกันนะคะ ซึ่งจริงๆ แล้วลึกๆ ในรายละเอียดมีอีกเยอะค่ะ (ที่นำมานี้ถือว่าได้ตัดทอนบางอย่างออกไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย) แต่ทุกสิ่งล้วนมีความหมายในตัวเอง ทั้งยังล้วนเป็นสิ่งดีงามทั้งสิ้น ใครมีโอกาสได้เข้าพิธีการแต่งงานตามประเพณีไทยอย่างนี้ คงน่ายินดีด้วยไม่น้อย เพราะปัจจุบันหาดูได้ยากเหลือเกิน
หวังว่าข้อมูลที่นำมาฝากกันนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านนะคะ แล้วโอกาสหน้า The Wedding Home จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับชุดเจ้าสาวแบบไทยสไตล์ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่วิจิตรบรรจงงดงามอย่างนางในเทพนิยายเชียวค่ะ......
Special Thanks
- ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณเอกวัฒน์ อมรพงศ์พิสุทธิ์ (คุณจั๊ว) www.weddingstory.co.th
- ขอบคุณพานสวยๆ จากร้านสุพรรณิการ์ http://www.supannikar.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น