บล็อกนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้ในการเรียนการสอนรายวิชา อินเตอร์เน็ตและการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ของ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554


ประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อ

ประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อ (Illuminated Boat Festival)
ประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อ
ประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อ
         ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานสืบทอดปฏิบัติใน เทศกาลออกพรรษา ทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตามแม่น้ำลำคลอง จังหวัดที่มีการไหลเรือไฟปัจจุบันคือ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร นครพนม หนองคาย เลย มหาสารคาม และอุบลราชธานี โดยเฉพาะชาวนครพนมนั้นถือเป็นประเพณีสำคัญมาก เมื่อใกล้จะออกพรรษาชาวบ้านจะแบ่งกันเป็น "คุ้ม" โดยยึดถือเอกชื่อวัดใกล้บ้านเป็นหลักในการตั้งชื่อคุ้ม เช่น ถ้าอยุ่ใกล้วัดกลางก็จะเรียกกันว่า "ชาวคุ้มวัดกลาง" ชาวคุ้มวัดต่าง ๆ ก็จะจัดให้มีการแข่งเรือ ส่วงเฮือ แห่ปราสาทผึ้ง และการไหลเรือไฟ ส่วนในจังหวัดมหาสารคามนั้นได้จัดขึ้นทุกปี เรียกว่า "งานประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อ"
             เรือไฟ หรือภาษาถิ่นเรียกกันว่า "เฮือไฟ" นี้เป็นเรือที่ทำด้วยต้นกล้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5 - 6 วา ข้างในบรรจุขนม ข้าวต้มผัดหรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ซึ่งเรียกว่า การไหลเรือไฟ หรือ ปล่อยเฮือไฟ
• มูลเหตุของการไหลเรือไฟ นั้นมีคตินิยมเช่นเดียวกับการลอยกระทง แต่เป็นการลอยกระทงก่อนที่อื่น 1 เดือน โดยมีความเชื่อกันหลายประเด็นคือ
     - ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที
     - ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระรัตนตรัย
     - ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาคุณพระแม่คงคา
     - ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาค
ประเพณีไหลเรือไฟ มหาสารคาม
ประเพณีไหลเรือไฟ มหาสารคาม
           ที่บริเวณสนามกลางบ้านท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามชาวบ้านท่าขอนยางร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดประเพณีไหลเรือไฟ ออกพรรษาชาวไทญ้อทั้ง 15 หมู่บ้าน เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม สำหรับการจัดงานประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อเนื่องในวันออกพรรษาในนั้นได้จัดสืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี สำหรับการไหลเรือไฟไทญ้อนั้นเนื่องจากชาวชุมชนท่าขอนยางเดิมที่เป็นชาวญ้อที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านพักอาศัยอยู่ที่บริเวณดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่าบ้านท่าขอนยาง ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน
พิธีและกิจกรรม
            ก่อนถึงวันงานไหลเรือไฟ ชาวคุ้มวัดจะช่วยกันประดิษฐ์ตกแต่งเรือไฟด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือมีความยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร จะประดิษฐ์เป็นรูปเจดีย์ วิหาร หงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อความสวยงามและเพื่อให้การจุดประทีป โคมไฟอยู่ได้ทนทาน เมื่อถึงวันงาน ภาคกลางวันก็จะมีขบวนแห่ไหลเรือไฟบก ซึ่งนำขึ้นไปวางบนพาหนะล้อเลื่อนต่าง ๆ แล้วเข้าขบวนแห่แหนทุกคุ้มวัดพร้อมกัน
            โดยมีการแสดงพื้นบ้านประกอบขบวนอย่างสนุกสนานสวยงาม การแห่ขบวนตำนานงานประเพณีออกพรรษา การแสดงวิถีชาวญ้อที่อาศัยอยู่ในตำบลท่าขอนยาง และในขบวนแห่เรือไฟในภาคกลางคืน ก็จะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น กราบพระ รับศีล ฟังเทศน์ และการกล่าวบูชารอยพระพุทธบาท ต่อจากนั้นจึงนำเรือไฟไปลงน้ำ และเริ่มจุดประทีปโคมไฟแล้วปล่อยให้ล่องไปตามแม่น้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเผยแพร่ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างกว้างขวางต่อไป
 • MV ไหลเรือไฟ ท่าขอนยาง
ขอบคุณแหล่งข้อมูล, ภาพ, วีดีทัศน์ :   • สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม
   • ประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม
   • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

Special Thanks :
   • ภาพถ่าย คุณ NOI_BLUESKY
   • ชมรมถ่ายภาพมหาสารคาม
   • MV ไหลเรือไฟ ท่าขอนยาง  คุณ mkhospital

พิธีบายศรีสู่ขวัญ



พิธีสู่ขวัญ บางทีเรียกว่า "พิธีบายศรี" หรือ "บายศรีสู่ขวัญ" เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ประเพณีสู่ขวัญทำกันแทบทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีเรียกขวัญ ให้มาอยู่กับตัว พิธีสู่ขวัญนี้เป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญจากคณะ ญาติมิตรและบุคคลทั่วไป



ผู้ได้ดีมีโชคหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือมาเยี่ยมเราก็ยินดีจัดพิธีสู่ขวัญให้ ประเพณีสู่ขวัญจึงเป็น ประเพณีทำกันอย่างกว้างขวาง คำว่า"ขวัญ"นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้นและในบางแห่งเรามักแปลว่า "กำลังใจ" ก็มีคำว่า "ขวัญ" ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่นเรียกเมียที่รักว่า "เมียขวัญ" หรือ "จอมขวัญ" เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า "ลูกขวัญ" สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า "ของขวัญ"

"ขวัญ" อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ขน หรือผม ที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย พิธีสู่ขวัญเป็นพิธีเก่า แก่ของชาวไทยเราแทบทุกภาค การทำพิธีก็ผิดเพี้ยนกันไปบ้างแต่ก็ยังยึดหลักใหญ่อยู่เหมือนกัน พิธีสุ๋ขวัญในบทความนี้ จะกล่าวถึงพิธีของชาวอีสานเป็นส่วนใหญ่ การทำพิธีสู่ขวัญเราอาจทำได้ถึง ๒ วิธีพร้อม ๆ กัน คือวิธีทางพุทธศาสนาและวิธีทางพราหมณ์ศาสนา

วิธีทางพุทธศาสนา โดยการนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งบาตรน้ำมนต์ เสร็จแล้วประพรมน้ำมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาถ้ามีศรัทธาพอจะถวายภัตตาหารเช้า หรือเพลพระสงฆ์ด้วยก็ได้ ส่วนพิธีทางพราหมณ์ ก็คือการสู่ขวัญซึ่งจะได้อธิบายให้ละเอียดต่อไป



การทำพิธีสู่ขวัญต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ หลายอย่างดังนี้...

พาขวัญหรือพานบายศรี

คำว่า "บายศรี" นี้น่าจะมาจากภาษาเขมร คือคำว่า บาย + ศรีข้าว (สุก) ที่เป็นมงคลข้าวนี้จะ เป็นส่วนประกอบของการจัดพานบายศรี จะขาดไม่ได้ การจัดพาขวัญนี้ ปกติต้องจัดด้วยพาน ทองเหลืองและมีสัมฤทธิ์ (ขันลงหิน) หลาย ๆใบ ซ้อนกัน มีใบตอง ดอกไม้สด ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ผูกแขน) ปัจจุบันเริ่มมีการนำเอากระดาษสีต่างๆ แต่ก็ผิดธรรมเนียมของท้องถิ่นไป

พาขวัญอาจจัดเป็นชั้นๆ จะเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น แล้วแต่ความสามารถ แต่คนเก่าคนแก่ของเมืองอุบล ฯ กล่าวว่าพาขวัญ ๓ ชั้น ๕ ชั้น เป็นของบุคคลธรรมดา ส่วน ๗ ชั้น และ ๙ ชั้นนิยมจัดเฉพาะสำหรับเชื้อพระวงศ์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ชั้นล่างของพาขวัญจะเป็นพานมีบายศรี (ทำด้วยใบตอง) ดอกไม้ ข้างต้ม ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ปั้นข้าว เงินฮาง มีดด้ามแก้ว ชั้น ๒ , ๓, ๔ จะได้รับการตกแต่งด้วยใบศรี และ ดอกไม้ซึ่ง มักจะเป็นดอกฝาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูณ ใบยอป่า อย่างสวยงาม ส่วนชั้นที ๕ จะมีใบศรี และด้ายผูกข้อมือ เทียนเวียนหัว (ทำด้วยขี้ผึ้ง) ของเจ้าของขวัญ นอกจากพาขวัญแล้วจะมีเครื่องบูชาและอื่นๆ เช่น ขันบูชา มีพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า ๑ ผืน แพร ๑ วา หวี กระจกเงา น้ำอบ น้ำหอม สร้อย แหวน ของผู้เป็นเจ้าของขวัญ



ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ด้ายผูกแขน) นั้นต้องเป็นด้ายดิบนำมาจับเป็นวงยาวพอที่จะพันรอบข้อมือได้ โบราณถือว่า คนธรรมดา วงละ ๓ เส้นผู้ดีมีศักดิ์ตระกูล ๕ เส้น (อาชญา ๕ ขี้ข้า ๓)เมื่อวงแล้วให้เด็ดหรือดึงให้ขาด เป็นเส้นๆห้ามใช้มีดตัดจะใช้มีดตัดได้เฉพาะด้ายที่มัดศพเท่านั้น ถ้าเป็นพาขวัญงานแต่ง คนจะเริ่มจัดพาขวัญต้อง เป็นคนบริสุทธิ์ (ปลอด) คือเป็นคนดีผัวเดียวเมียเดียว ถ้าจัดไม่เป็นเพียงมาจับพอเป็นพิธีแล้วให้คนอื่นๆจัดต่อ ไปจนเสร็จต้องจัดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง พาขวัญฝ่ายชายจะให้หญิงบริสุทธิ์ (เด็กหญิงยังไม่มีประจำเดือน) หาบด้วยไม้ม้วนผ้าทอหูกเพราะถือเคล็ดเอาความสามัคคีรักใคร่ของผ้าและไม้ และการสูตรขวัญต้องสูตรเวลา ค่ำประมาณ ๓ - ๔ ทุ่มหลังรับประทานอาหารค่ำเสร็จถือว่าเป็นเวลาหนูเข้ารู (ยามหนูเข้าฮู) พาขวัญงานแต่ง จะต้องมีอาหารคาวหวานเป็นส่วน ประกอบอีกด้วย

พาขวัญแต่งเสร็จแล้วจะตั้งวางไว้ในที่อันเหมาะสมก่อนพอได้เวลาสูตรขวัญ คือจะทำพิธีจึงให้ยกไป ตั้งท่ามกลางญาติมิตรบนผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวของเจ้าของขวัญ ข้างๆพาขวัญนอกจากจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีแก้วน้ำเย็น แก้วใส่น้ำส้มป่อย (กระถินป่า) และแก้วเหล้าสำหรับหมอสูตรขวัญจะได้ดื่ม หรือพ่นหรือจุ่ด้วยดอกไม้สลัดใส่พาขวัญซึ่งเรียกว่า "ฮดฟาย"



การสวดหรือการสูตรขวัญ

เจ้าภาพผู้จัดพิธีสู่ขวัญจะต้องจัดหาหมอนวดหรือสูตรขวัญซึ่งมักเรียกว่า "พราหมณ์" หรือ"พ่อพราหมณ์" ไว้ล่วงหน้า ปกตินี้พ่อพราหมณ์มักจะเป็นผู้ที่ทราบประเพณีสู่ขวัญเป็นที่นับถือของ ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น หมอสูตรขวัญสมัยก่อนๆ นุ่งห่มธรรมดาเพียงให้มีผ้าขาวหรือให้มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ก็พอปัจจุบันนิยมนุ่งขาวห่มขาว นับว่าเป็นการพัฒนาให้เหมาะ สมกับสังคมสมัยใหม่

ก่อนลงมือสวด เจ้าภาพต้องเตรียม "ด้ายผูกแขนพราหมณ์" ไว้เป็นด้ายผูกข้อมือธรรมดาเป็นแต่เพียง มัดธนบัตรเป็นค่าบูชาพราหมณ์จำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควร และเจ้าภาพจะเป็นคนผูกข้อ มือพราหมณ์ด้วยด้ายผูกแขนพิเศษนี้

พราหมณ์จะจัดให้เจ้าของขวัญนั่งให้หันหน้าไปในทิศทางต่างๆ ตามตำรา เจ้าของขวัญนั่งลงแล้วยกมือไหว้ พราหมณ์เสร็จแล้วใช้มือขวาจับพาขวัญตั้งจิตรอธิฐานขอให้เทวดาบันดาลให้เป็นไปดังหมอขวัญหรือพราหมณ์สูตร ญาติพี่น้องจะนั่งล้อมเป็นวงด้านหลังตั้งจิตรอธิฐานให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญ จงเกิดแก่เจ้าของขวัญแล้ว อ้อนวอนเทวดาเป็นภาษาบาลีว่า "สัค เค กา เม จ รูเป" ? จบแล้วว่านโม ๓ จบแล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ครั้นจบแล้วจะสู่ขวัญอะไรก็เลือกว่าเอาตามต้องการให้เหมาะกับงาน การสวดต้องให้เสียงชัดเจน สละสลวย ไพเราะฟังแล้วเกิดความดีใจ ศรัทธาอุตสาหะ ในการทำความดียิ่งขึ้นจึงจะเป็นสิริมงคลแก่เจ้าตัวถ้าป่วยไข้ ไข้จะหาย ถ้าได้ดีได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งก็จะรักษาความดีไว้ให้คงทนไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมจนลืมตัวเมื่อสวดเสร็จ จะว่า " สัพพพุทธานุภาเวน สัพพธัมมานุภาเวน สัพพสังฆานุภาเวนสัพพโสตถี ภวันตุ เต ยถา สัพพี ภวตุ สัพ " ฯลฯ การเข้านั่งล้อมพาขวัญถ้าเป็นการแต่งงานคู่บ่าวสาวพร้อมด้วยเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเข้าร่วมพิธีด้วย จะจัดให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งชิดกันเวลาจับพาขวัญให้แขนเจ้าบ่าวทับแขนเจ้าสาวเพื่อนๆ เจ้าบ่าวจะ พยายามเบียดให้เจ้าสาวนั่งชิดกับเจ้าบ่าวให้มากๆ จะมีการแกล้งเจ้าบ่าวต่างๆ นานาเป็นที่สนุกสนาน



การมาร่วมพิธีสู่ขวัญนี้คนโบราณได้เล่าว่าเมื่อครั้ง ๗๐ ปีก่อนบ้านเมืองอุบลฯ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยการเลี้ยงไหมของขวัญผู้มาร่วมพิธีขวัญจึงเป็นไหมเส้นเป็นไจๆนับว่าเป็นของขวัญที่พอ เหมาะพอควรและไม่เคยมีการนำเอาเงินมาเป็นของขวัญไหมที่เจ้าของขวัญรับไว้ก็จะนำไปทอเป็นผ้าได้ภายหลัง

การเชิญขวัญ ก่อนสูตรขวัญถ้ามีเวลาพอก็ให้ว่าคำเชิญขวัญเสียก่อนทุกครั้งการเชิญขวัญเป็นพิธีที่ดีอย่าง หนึ่งคือเราขอความสำเร็จความศักดิ์สิทธิ์จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทวดา อินทร์ พรหม ผู้มีอิทธิฤทธิ์มาประสิทธิ์ประสาทพรให้จะได้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์เพราะผู้สวดและผู้ฟังไม่ใช่คนมีอิทธิฤทธิ์เมื่อ เราขอท่านท่านก็คงเมตตาประทานให้ตามคำขอ

คำเชิญขวัญ คำเชิญขวัญนั้นมีหลายสำนวนไม่มีแบบตายตัว ต่างหมอต่างสรรหาสำนวนที่เห็นว่า เหมาะกับเหตุการณ์เช่น คำเชิญขวัญสำหรับบุคคลธรรมดา ก็อีกสำนวนหนึ่ง สำหรับเชื้อพระวงศ์ก็อีกสำนวน หนึ่งเป็นต้น
                                                 


การผูกแขนหรือข้อมือ

เมื่อพราหมณ์สูตรขวัญจบแล้วญาติพี่น้องจะเอาข้าว ไข่ กล้วย ใส่มือเจ้าของขวัญมือซ้ายหรือมือขวา ก็ได้ให้พราหมณ์ผูกข้อมือให้ก่อนปกติจะผูกข้อมือซ้ายเพราะแขนซ้ายถือเป็นแขนขวัญ เป็นแขนที่อ่อนแอใช้งาน หนักไม่ได้ เป็นแขนที่น่ารักทะนุถนอม ในเวลาผูกข้อมือนั้นทุกคนยื่นมือขวาออกไปพยุง (โจม) แขนของเจ้าของ ขวัญที่พราหมณ์กำลังทำพิธีผูกข้อมือให้ถ้าอยู่ห่างก็ยื่นมือจับแขนหรือแตะตัวกันต่อๆ มาเป็นเส้นสายเหมือน เชือกส่อแสดงถึงความสัมพันธ์ทางกายและใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วตั้งจิตอธิฐานขอให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญเมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้วให้ผู้เป็นเจ้าของขวัญมีความ สุขความเจริญเมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้วให้ผู้เป็นเจ้าของขวัญประนมมือไหว้ผู้ให้พร เป็นการรับเอาพร เมื่อพราหมณ์ผูก เสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นโอกาสของญาติมิตรทั่วๆไปจะเข้ามาผูกข้อมือให้กับเจ้าของขวัญ


ด้ายผูกแขน (ด้ายผูกข้อมือ) ถือเป็นของดี ของศักดิ์สิทธิ์ควร รักษา ไว้อย่าพึ่งดึงทิ้ง ให้ล่วง ๓ วันเสียก่อนจึงดึงออกเวลาทิ้งอย่าทิ้ง ลงที่สกปรก เพราะด้ายผูกแขนเป็นของขาวของบริสุทธิ์ เป็นจุดรวมแห่งจิตใจบริสุทธิ์หลาย ดวงจึงควรรักษาไว้ให้ดี ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ฟังว่าด้ายผูกแขนที่เก็บรักษา ไว้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันอันตรายได้เช่น มีโจรมาปล้น อธิฐานขอให้จิต ทุกดวงช่วยก็ปลอดภัยจากอันตรายได้และเป็นเสน่ห์ดึงดูดจิต ใจให้คนรัก-ใคร่ชอบ พอได้



การผูกแขน (ผูกข้อมือ) การผูกแขนที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่เจ้าของ ขวัญควรประกอบ
ด้วยองค์ ๔ คือ :-

- ผู้ผูก หรือพราหมณ์
- ผู้รับผูก หรือเจ้าของขวัญ
- ผู้เกี่ยวข้อง คือญาติมิตร
- คำกล่าวขณะที่ผูก

คำกล่าวขณะที่ผูกเป็นคำเรียกร้องเชิญขวัญซึ่งเป็นคำที่ไพเราะ อ่อนหวาน สุภาพ เรียบร้อยมีความหมาย ไปในทางที่ดีงาม

โอกาสจัดพิธีสู่ขวัญ มีหลายโอกาสเช่น คารวะพระพุทธรูป บายศรีพระสงฆ์ สู่ขวัญแม่ออกกรรม (คลอดบุตรออกไฟ) สู่ขวัญเด็กน้อย สู่ขวัญเฮือน สู่ขวัญคนธรรมดา สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญหลวง สู่ขวัญเกวียน สู่ขวัญขึ้นเล้า (ยุ้ง) สู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน สู่ขวัญคนป่วย สู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ สู่ขวัญวัวขวัญควาย



จะเห็นได้ว่าพิธีสู่ขวัญนี้เป็นประเภท "ขนบประเพณี" คือประเพณีชาวอีสานได้เคยตั้งหรือร่างเป็นระเบียบแบบ แผนขึ้นไว้เป็นธรรมดาของประเพณีที่อาจมีส่วนปลีกย่อย แปลก แตกต่างกันออกไปบ้างในลักษณะของการพัฒนาเป็นลักษณะของความเจริญให้เหมาะสมกับกาลสมัยแต่ส่วนสำคัญ อันเป็นมูลฐานของประเพณีนี้ก็ยังคงอยู่และเป็นหน้าที่ของพวกรุ่นต่อไปจะเป็นผู้รับช่วงระวังรักษาไว้ให้มรดก อันสำคัญนี้ยั่งยืนสืบไป เพื่อแสดงความเก่าแก่ของชาติบ้านเมืองเรา...ฯ

หนังสืออ้างอิง : ปริญญาณ ภิกขุ ประเพณีโบราณไทยอีสาน อุบลราชธานี โรงพิมพ์ศิริธรรม. ๒๕๑๖

สืบสานประเพณีโบราณ…แต่งงานแบบไทยแท้

สาวๆ หลายคนต่างมีความหวังที่จะได้จัดงานวิวาห์ในแบบที่ตัวเองใฝ่ฝัน  แต่อีกส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือช่วงพิธีการตอนเช้า  ซึ่งในแต่ละครอบครัวมักจะจัดพิธีมงคลสมรสกันตามศาสนา  และประเพณีที่ตนเองนับถืออยู่  โดยขั้นตอนในแต่ละส่วนอาจแตกต่างกันบ้างตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่นค่ะ  แต่ขอให้ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทยไว้เป็นพอ

The Wedding Home
 ถือโอกาสนำข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับประเพณีการแต่งงานแบบไทยที่สืบทอดมาแต่โบราณมาฝากว่าที่คู่บ่าวสาวกัน  เพื่อให้การเตรียมตัวเข้าพิธีวิวาห์ในแบบฉบับไทยแท้เปี่ยมเสน่ห์เป็นที่น่าจดจำตลอดไปค่ะ
ประเพณีการแต่งงานแบบไทยนั้นแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน  คือ การรับหมั้นและการแต่งงานค่ะ 
โดยหนุ่มสาวที่คบหาดูใจกันมานานพอสมควรแล้ว  ฝ่ายชายก็จะไปเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิงกับพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง 
หลังจากที่ตกลงกันแล้วก็จะหาฤกษ์และกำหนดพิธีรับหมั้น  เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายศึกษานิสัยใจคอ  เรียนรู้  และปรับตัวเข้าหากันก่อนการแต่งงานค่ะ

ขั้นตอนต่อมาก็คือการแต่งงาน  ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะจัดพิธีการแต่งงานขึ้นเพื่อเป็นการประกาศให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองยินดีจะยกลูกสาวและลูกชายของตนให้อีกฝ่ายหนึ่ง
หลังจากที่หนุ่มสาวทั้งสองคนหมั้นหมายกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว  ในขั้นตอนนี้จะมีการทำบุญทำทาน  เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คู่บ่าวสาวด้วย 
แต่ในปัจจุบันนิยมจัดพิธีรับหมั้นในช่วงเช้าและแต่งงานในวันเดียวกัน  เพื่อความสะดวก  และข้อจำกัดหลายอย่าง  เช่น การเดินทาง  เวลา  และงบประมาณ   แม้ว่าสมัยก่อนอาจหมั้นกันแล้วสักระยะช่วงเวลาหนึ่ง  แต่ปัจจุบันนิยมทำพิธีแต่งงานต่อเนื่องกันไปเลย

ขันหมากไทย  ประกอบด้วย ชุดขันหมากเอก ได้แก่ พานขันหมาก  พานสินสอด พานธูปเทียนแพ  ถ้าจัดรวมกับงานหมั้นก็มีพานแหวนด้วย  
              

ส่วนเครื่องขันหมากก็จะมีขนมมงคล  ต้นกล้วย  ต้นอ้อย ประดับกระดาษแดง  ไก่ต้ม  หมู มะพร้าวอ่อน  กล้วย  ส้ม สุรา  ฯลฯ  โดยจัดเป็นคู่ทุกถาด  อาหารสดและผ้าไหว้จัดไว้สำหรับบรรพบุรุษที่ล่วงลับ  เครื่องบริวารขันหมากนิยมจัดอย่างน้อย 9 คู่  และมีกลองยาวนำหน้าขบวนให้ครึกครื้น

   
แต่เนื่องจากปัจจุบันมักจัดพิธีรับหมั้นและแต่งงานภายในวันเดียวกัน  ซึ่งบางครอบครัวก็ต้องการเฉพาะขันหมากที่จำเป็นเท่านั้น  ประกอบไปด้วย พานขันหมาก บรรจุหมากพลู  ใบไม้มงคล  ถุงถั่วงา  พานสินสอดทองหมั้น  พานแหวน  พานธูปเทียนแพสำหรับไหว้ผู้ใหญ่   ส่วนชุดขันหมากโท  เช่น พานต้นกล้วย อ้อย  ผลไม้  ขนมมงคล 9 สิ่ง   จัดให้ลงตัวเป็นจำนวนคู่  ตามแต่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน  สำหรับฝ่ายหญิงนั้น จะต้องจัดเตรียม พานเชิญขันหมาก ไว้สำหรับต้อนรับขันหมากของฝ่ายชายด้วยค่ะ
        

ขั้นตอนพิธีการรับหมั้น

ในขบวนขันหมากของฝ่ายชาย จะต้องจัดแถวและเดินเป็นคู่  โดยจะมีคู่ของเถ้าแก่เดินนำหน้า และตามด้วยคุณพ่อคุณแม่ของว่าที่คู่หมั้น (หากท่านใดท่านหนึ่งไม่อยู่ก็ให้ญาติแทนได้ค่ะ)
จากนั้นจะเป็นว่าที่คู่หมั้น ซึ่งเดินคนเดียว (เพราะคู่รออยู่ด้านในแล้วค่ะ)  โดยทั้งเถ้าแก่, คุณพ่อคุณแม่ และ ว่าที่คู่หมั้น ไม่ต้องถือของในขบวนขันหมากค่ะ

เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว  ฝ่ายหญิงให้จัดผู้ใหญ่ที่เป็นสามี ภรรยา 1 คู่ ออกไปต้อนรับ  พร้อมถือพานเชิญขันหมากออกไปด้วย  และมีการพูดคุยกล่าวต้อนรับกันระหว่าง เถ้าแก่ฝ่ายชาย และ ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง
เมื่อเจรจาขอนำเครื่องขันหมากเข้าไปทำพิธี จนฝ่ายหญิงอนุญาตและส่งพานเชิญขันหมากให้แล้ว ขบวนขันหมากจึงเข้าสู่พิธีในขั้นตอนต่อไปได้
ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะถึงเวลาที่ขบวนขั้นหมากจะต้องผ่านการกั้นประตู เช่น ประตูเงิน ประตูนาก และประตูทองเสียก่อน  แต่ในปัจจุบัน ก็จะมีการกั้นประตูเพื่อความสนุกสนาน หลายประตูทีเดียว ดังนั้นให้ว่าที่คู่หมั้นเตรียมเงินใส่ซองไว้ด้วย  เพื่อขอผ่านประตูตามที่นายประตูพึงพอใจ  แล้วจึงจะเข้ามาในบ้านฝ่ายหญิงได้
 
เพื่อป้องกันความสับสน ว่าที่คู่หมั้นควรเตรียมเงินใส่ซองไว้แตกต่างกันเป็นเลขคู่ เช่น ซองละ 40 บาท ซองละ 80 บาท  หรือ ซองละ 100 บาท โดยทำสัญลักษณ์แต่ละซองให้รู้ว่าซองไหนมีเงินอยู่เท่าไหร่ และนำซองไว้ให้กับคนที่จะแจกซอง โดยบอกกล่าวไว้ก่อนเลยว่าจะแจกซองให้คนกั้นประตู อย่างไรบ้าง เพื่อคุณว่าที่คู่หมั้นที่อยู่ในขบวนจะได้ยิ้มอย่างเดียวค่ะ ไม่ต้องกังวลคอยหยิบซองออกจากกระเป๋าของตัวเอง

เมื่อขบวนขันหมากเข้ามาในบ้านได้แล้ว  ก็จะนำชุดขันหมากเอก อันได้แก่ พานขันหมากพานสินสอด พานแหวน และพานธูปเทียนแพ  มาจัดวางไว้บริเวณที่ทำพิธีนับสินสอด  ส่วนพานอื่นๆ ก็นำไปวางในส่วนที่จัดเตรียมไว้  แล้วเถ้าแก่ของฝ่ายชาย ก็จะเริ่มเจรจาสู่ขอฝ่ายหญิง โดยมีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย และว่าที่คู่หมั้นฝ่ายชายนั่งล้อมวงอยู่ด้วย  (ตอนนี้ว่าที่คู่หมั้นฝ่ายหญิงยังถูกเก็บตัวอยู่นะคะ ยังไม่ได้พบหน้ากันค่ะ)  หลังจากนั้นจึงเริ่มการเปิดพานสินสอดโดยการปูผ้าห่อขันหมากที่พื้น จากนั้น หยิบใบเงิน ใบทอง ใบนากเรียงบนผ้าก่อน แล้ววางสินสอดลง จากนั้นผู้ใหญ่ก็จะโปรย  ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก  ไว้ข้างบน เพื่อความเป็นมงคล

จากนั้นคุณแม่ว่าที่คู่หมั้นฝ่ายหญิง จะห่อผ้าสินสอดแบกขึ้นบ่าตามประเพณี  แล้วพูดเอาเคล็ดว่า “ห่อเงินนี้หนักเสียจริงๆ คงจะมีเงินทองงอกเงยออกมามากมาย เต็มบ้าน” บ้านไหนที่คุณแม่ขี้อาย เวลาพูดก็ตะกุกตะกัก เรียกเสียงหัวเราะได้ทั้งงานเลย  ก็เป็นความน่ารักอีกแบบค่ะ

จากนั้นก็ถึงเวลาที่จะให้ผู้ใหญ่ที่เป็นสามี ภรรยากัน 1 คู่ ของฝ่ายหญิง (ใช้คู่ใหม่หรือคู่เดิมที่ถือพานเชิญขันหมากก็ได้) นำตัวว่าที่คู่หมั้นฝ่ายหญิงมาส่งให้ฝ่ายชาย เพื่อทำพิธีสวมแหวนต่อไป  จากนั้นก็จะเป็นการสวมแหวนให้กัน (ตามประเพณีแล้วฝ่ายหญิงไม่ต้องมีแหวนให้ฝ่ายชาย เพราะนี่คือพิธีรับหมั้น คือรับอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันก็มักจะมีแหวนของฝ่ายชายให้ฝ่ายหญิงเสมอ) ซึ่งเมื่อสวมแหวนเสร็จแล้ว ทั้งสองคนก็จะเป็นคู่หมั้นกันแล้วค่ะ จากนั้นคู่หมั้น ทั้งสองคน ก็ต้องไหว้ขอบคุณ เถ้าแก่ทั้งสองฝ่ายโดยการไหว้ที่ตัก  และนำพานธูปเทียนแพ  มาไหว้คุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่ายโดยกราบแบบพนมมือที่เท้าของท่าน  เป็นอันจบพิธีรับหมั้นค่ะ 

พิธีแต่งงาน
พิธีแต่งงานจะเริ่มด้วยพิธีสงฆ์  ซึ่งมักนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ในระหว่างนั้น ว่าที่เจ้าบ่าว และว่าที่เจ้าสาว ก็ตักบาตรร่วมกัน  ซึ่งควรจะตักบาตร ขณะที่พระสงฆ์ถวายพรพระ (พาหุง) ซึ่งในการตักบาตรนั้น ก็ตักเฉพาะข้าวสวย ใส่ในบาตรเท่านั้นนะคะ ถ้ามีกับข้าว ก็แยกถวายต่างหากค่ะ (ถือกันว่า ขณะตักบาตร หากฝ่ายใดกุมมืออีกฝ่ายหนึ่งไว้ จะเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า ดังนั้นจึงนิยมผลัดกันกุมมือแต่ละฝ่ายขณะตักบาตร)   ในช่วงนี้หลังจากพระสงฆ์ฉันภัตตาหารและสวดให้ศีลให้พรแล้ว  ว่าที่บ่าวสาวก็ถวายเครื่องไทยธรรม กรวดน้ำ แล้วรับน้ำพระพุทธมนต์ค่ะ

บางครอบครัวอาจมีพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พระภูมิเจ้าที่  เทวดา พระแม่คงคา  พระแม่ธรณี ผีบ้าน ผีเรือน  และสัมภเวสีค่ะ  เพื่อเป็นการทำบุญทำทาน  เพราะบ้านเรามีงานบุญ (เขาว่ากันว่าบ้านไหนมีงานบุญบ้านนั้นจะมีกลิ่นหอมค่ะ) ซึ่งมักกระทำในที่กลางแจ้ง  โดยใช้โต๊ะปูด้วยผ้าขาว วางอาหารเซ่นไหว้ต่างๆ เพื่อให้ว่าที่บ่าวสาวอยู่เย็นเป็นสุข  ชีวิตคู่มั่นคง เจริญก้าวหน้า 
       
พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร 
ขั้นตอนนี้เท่ากับว่าได้ดำเนินมาครึ่งทางแล้วนะคะ คงต้องกระซิบกับว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวหน่อยว่าให้เอาแป้งพัฟส์มาโบ๊ะหน้า เดี๋ยวหน้ามัน  ถ่ายรูปไม่สวยเอาค่ะ 
เมื่อได้เวลาฤกษ์ว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวจุดธูปเทียน  บูชาพระรัตนตรัย  โดยให้ว่าที่บ่าวสาวถือเทียนชนวนด้วยกัน แล้วเริ่มจุดที่เทียนเล่มซ้ายมือเราก่อน (ขวาของพระพุทธรูป) แล้วจึงเป็นเล่มขวา ห้ามจุดเล่มขวาก่อนเด็ดขาดนะคะ อันนั้นสำหรับงานอวมงคลเช่นงานศพ
จากนั้นจุดธูปซึ่งปักรอไว้แล้วในกระถางธูปจำนวน 3 ดอกโดยเริ่มที่ดอกตรงกลางก่อน แล้วจึงไปจุดที่ดอกซ้ายและขวาตามลำดับ  
จากนั้นให้ว่าที่เจ้าบ่าว  เจ้าสาว เดินมาที่ตั่งหลั่งน้ำสังข์แล้วไหว้ขอบคุณแขกและญาติทุกท่าน 1 ครั้ง ก่อนลงนั่งบนตั่งคู่กัน (ทิศทางการตั้งตั่งหลั่งน้ำสังข์ต้องหันหน้าออกทางทิศตะวันออกหรือทิศเหนือเท่านั้น)  โดยฝ่ายหญิงนั่งทางซ้ายมือของฝ่ายชาย   มีเพื่อนว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาว ยืนเป็นเพื่อนอยู่ข้างหลัง  จะกี่คนก็ได้ค่ะ  แต่นับรวมกันแล้วเพื่อนว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว ต้องมีจำนวนเป็นเลขคู่นะคะ (ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีเพื่อนยืนข้างหลังกันแล้ว)

จากนั้นเชิญประธานหรือญาติผู้ใหญ่ 1 คู่  ขึ้นสวมมาลัยให้แก่ว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาว  ตามด้วยสวมมงคล  และเจิมหน้าผาก  อวยพรคู่บ่าวสาว และหลั่งน้ำสังข์ประสาทพรให้กับว่าที่บ่าวสาว
เมื่อน้ำสังข์แรกได้หลั่งลงแล้วว่าที่เจ้าบ่าว เจ้าสาวของเรา ก็จะเป็น เจ้าบ่าว และ เจ้าสาว หรือสามี ภรรยา โดยสมบูรณ์แล้วค่ะ
จากนั้นจึงเชิญแขกที่มาร่วมงานทยอยหลั่งน้ำสังข์และประสาทพรให้กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว หรือสามี ภรรยาคู่ใหม่  โดยที่คุณพ่อคุณแม่ของเจ้าสาวเป็นคู่รองสุดท้าย ส่วนคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวเป็นคู่สุดท้าย
น้ำที่หลั่งจากสังข์จะไหลลงบนพานดอกไม้ซึ่งกันไม่ให้น้ำกระเด็นออกไป   เมื่อคุณพ่อคุณแม่ของเจ้าบ่าวหลั่งน้ำสังข์แล้ว ประธานหรือญาติผู้ใหญ่  1 คู่ ก็ถอดมงคลแฝดออกโดยถอดพร้อมกันทั้งสองมือ  มอบให้แก่บ่าวสาว  แล้วจับมือให้ทั้ 2 ลุกขึ้นพร้อมกัน

หลังจากผ่านการหลั่งน้ำพระพุทธมนต์แล้วบ่าวสาวจะนำพานธูปเทียนแพและผ้าไหว้ ไปทำพิธีไหว้ผู้ใหญ่  ทั้งคุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่ายและผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเพื่อขอขมา ฝากเนื้อฝากตัวและแสดงความเคารพ  แล้วผู้ใหญ่ก็จะมอบของรับไหว้เป็นเงินทอง  หรือของรับไหว้อย่างอื่นตอบแทนมา และบ่าวสาว ก็จะมอบผ้าไหว้ ให้กับผู้ใหญ่ ซึ่ง ผ้าไหว้สมัยก่อน คือผ้าฝ้าย  ผ้าแพร ผ้าไหม เพื่อใช้ตัดชุด แต่ปัจจุบันใช้ผ้าขนหนูก็ได้นะคะ
มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งงานแบบไทยก็คือการส่งตัวเข้าเรือนหอค่ะ  ในขั้นตอนนี้ต้องให้ผู้ใหญ่คู่ที่อยู่กินกันมานานด้วยความสุขเป็นผู้ปูผ้าปูที่นอนให้และทดลองนอนก่อนคู่บ่าวสาวเพื่อเอาเคล็ด จากนั้นผู้ใหญ่ทั้งสองก็พรมน้ำมนต์  และโปรยข้าวตอกดอกไม้เหรียญเงินเหรียญทองลงบนที่นอน  
ในสมัยโบราณเมื่อถึงเวลาฤกษ์ ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงก็พาเจ้าสาวเข้ามา  แล้วเจ้าสาวก็ไหว้หรือกราบเจ้าบ่าว  ทั้งสองมอบของมีค่าให้แก่กัน (หรือเจ้าบ่าวมอบให้เจ้าสาว) เรียบร้อยแล้วผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวก็กล่าวฝากฝังเจ้าสาวกับเจ้าบ่าว  และทุกคนก็ทยอยออกจากห้องไป  เหลือเพียงบ่าวสาวลำพัง
แต่ในปัจจุบันผู้ใหญ่ที่จะเป็นผู้ส่งตัวบ่าวสาวมักจะจูงบ่าวสาวเข้าห้องหอพร้อมกันโดยมีเคล็ดให้เจ้าสาวเดินนำหน้าเจ้าบ่าวเดินตามหลัง ไม่มีการกราบเท้าสามีกันแล้ว แต่มักจะมีการให้นั่งฟังคุณพ่อ คุณแม่ของแต่ละฝ่ายอวยพร ฝากฝังรวมถึงให้คติการครองเรือน(อบรม)ก็เป็นอันเสร็จพิธี
ขั้นตอนการแต่งงานตามประเพณีไทยอาจซับซ้อนหลายขั้นตอนไปสักนิด  แล้วพิธีการในแต่ละท้องถิ่นก็ไม่เหมือนกันนะคะ ซึ่งจริงๆ แล้วลึกๆ ในรายละเอียดมีอีกเยอะค่ะ (ที่นำมานี้ถือว่าได้ตัดทอนบางอย่างออกไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัย) แต่ทุกสิ่งล้วนมีความหมายในตัวเอง  ทั้งยังล้วนเป็นสิ่งดีงามทั้งสิ้น  ใครมีโอกาสได้เข้าพิธีการแต่งงานตามประเพณีไทยอย่างนี้  คงน่ายินดีด้วยไม่น้อย  เพราะปัจจุบันหาดูได้ยากเหลือเกิน  
หวังว่าข้อมูลที่นำมาฝากกันนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านนะคะ  แล้วโอกาสหน้า The Wedding Home จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับชุดเจ้าสาวแบบไทยสไตล์ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่วิจิตรบรรจงงดงามอย่างนางในเทพนิยายเชียวค่ะ......

Special Thanks

  • ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณเอกวัฒน์   อมรพงศ์พิสุทธิ์  (คุณจั๊ว)  www.weddingstory.co.th



วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554


บุญกฐินหรือบุญเดือนสิบสอง 
 
คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของสังฆกรรมชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ต้องใช้พระสงฆ์ร่วมเป็นพยานในการทำ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย คือ ๔ รูป เป็นองค์สงฆ์หรือพยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน รวมเป็น ๕ รูป ภาษาสังฆ์กรรมของพระเรียกว่า "ปัญจวรรค"
นอกจากนี้คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึงในเวลาเย็บจีวร ภาษาไทยเรียกว่า "ไม้สดึง" ภาษาบาลีใช้คำว่า "กฐิน"

ขณะเดียวกันภาษาไทยได้ยืมภาษาบาลีมาเป็นภาษาของตัวเองโดยการเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า ผ้ากฐินหรือบุญกฐิน
บุญกฐิน มีกำหนดทำกันในระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สำหรับจุดประสงค์หลักของการทำบุญกฐินนั้น เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วได้ผลัดเปลี่ยนผ้าใหม่ โดยได้มีมูลเหตุของบุญกฐินปรากฎในกฐินขันธะแห่งพระวินัยปิฎก และฎีกาสมันตปาสาทิกา ไว้ว่า:-
สมัยหนึ่ง ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ขณะนั้นวันจำพรรษาได้ไกล้เข้ามา พวกภิษุเหล่านั้นจึงได้พากันจำพรรษาที่เมืองพระเชตวันมหาวิหาร ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่จำพรรษาภิษุเหล่านั้นมีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ ครั้นพอ ออกพรรษาแล้ว พากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดร้อนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ขณะฤดูฝนยังไม่ทันจะล่วงพ้นสนิท ทำให้พวกภิกษุชาวเมืองปาฐาเหล่านั้นมีจีวรเปียกชุ่มและเปรื่อนด้วยโคลนตม พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นใจในความยากลำบากของภิษุเหล่านั้น จึงอนุญาตให้หาผ้ากฐินหรือผ้าที่ขึงเย็บด้วยไม้สะดึงมาใช้เปลี่ยนถ่ายแทนผ้าเก่า ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกาเมื่อได้ทราบถึงพุทธประสงค์แล้ว นางก็ได้นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนางได้เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินในพระพุทธศาสนา

การทำบุญกฐิน หรือการหาผ้ากฐินในสมัยก่อนๆ ของคนอีสานนั้นสันนิษฐานว่าเป็นเรื่องหรือเป็นกิจกรรมของพระที่จะต้องช่วยเหลือกัน และครั้นพอทำสำเร็จแล้วก็มอบ หมายให้พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่ปรากฏในกฐินขันธกะ แห่งพระวินัยปิฎกและฎีกาสมันตปาสาทิกาว่า:-
พระที่มีคุณสมบัติ สมควรที่จะได้รับกฐิน คือ เป็นผู้ที่มีอายุมาก มีพรรษามาก เป็นผู้ที่มีจีวรเก่า เป็นผู้ที่ฉลาด สามารถรู้อานิสงค์ ๕ มาติกา ๘ รู้จักการกรานกฐิน พินทุ ปัจจุธรณ์และอธิษฐาน และเป็นผู้ที่สามารถกระทำกฐินัตถารกิจได้ คนอีสานรู้และเข้าใจดีฐานะที่ว่าครองกฐิน ในตอนว่าด้วยบุญกฐินนี้มีบทผญาที่นักปราชญ์อีสานได้กล่าวพรรณนาถึงประเพณีฮีตข้อที่ ๑๒ ไว้ว่า...
พอแต่เหลียวขึ้นฟ้าเห็นแต่ว่าวเดือนสิบสอง
ลมคะนองเชยพัดง่า ยม กะเลยม้วน
พอสมควรกะหาผ้ากฐินทานมาทอด
ตลอดเดือนหนึ่งหาได้ดั่งประสงค์
หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงตาสีหาน้ำครั่ง
หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายขวาซ้ายเข้าซ่อยกัน
พอแต่ตกบ่อนบั้นโลกมันเปลี่ยนเวียนผัน
ปัจจุบันกะเลยโยมเป็นคนเฮ็ดแห่แหนแพนกั้ง
ต่างกะหวังเต็มที่ทำความดีบ่ดูหมิ่น
บุญกฐินซ่อยค้ำทานทอดให้หมู่สงฆ์
ทุกวันนี้การทำกฐินเป็นเรื่องของผู้ที่มีจิตศรัทธาที่ต้องการจะทำบุญกฐิน เนื่องมาจากสมัยนี้เป็นเรื่องของความสดวก ถ้ามัวแต่ให้หลวงปู่พรหมไปหาผ้าหลวงปู่สีหาน้ำครั่ง หลวงปู่สอนนั่งสอดด้ายเหมือนสมัยก่อนนั้น ผู้เขียนกลัวว่าวันหนึ่ง กับคืนหนึ่งผ้ากฐินคงจะเสร็จไม่ทันกำหนดแน่ เว้นแต่ว่าใช้กำลังคนมาก และอาศัยความพร้อมเพียงสามัคคีกันเท่านั้น
ผ้าที่พระบรมพุทธานุญาตให้ใช้เป็นผ้ากฐินไดนั้น มีดังนี้ คือ ผ้าใหม่ ๑ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ ๑ ผ้าเก่า ๑ ผ้าบังสุกุล ๑ ผ้าที่มีขายอยู่ตามร้านตลาด ๑ ซึ่งผ้าเหล่านี้เอามาทำเป็นผ้ากฐินได้ ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ยืมเขามา ๑ ผ้าที่ทำนิมิตได้มา ๑ ผ้าที่พูดเลียบเคียงได้มา ๑ ผ้าเป็นนิสัคคีย์ ๑ ผ้าที่ขโมยมา ๑
เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วผ้าที่เป็นผ้ากฐินได้คือผ้าที่ได้มาโดยชอบหรือโดยสุจริต ส่วนผ้าที่ทำเป็นผ้ากฐินไม่ได้คือ ผ้าที่ได้มาโดยมิชอบหรือโดยทุจริต
ทีนี้พูดกันถึงเรื่องของประเภทของกฐินบ้าง โดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจว่ากันว่ากฐินมี ๒ แบบ คือ "จุลลกฐิน" และ "มหากฐิน" จุลกฐินเป็นกฐินเล็กหรือกฐินแล่น เป็นกฐินที่ต้องทำให้เสร็จในวันเดียว เริ่มตั้งแต่การปั่นด้าย ทอด้าย เย็บ ย้อมและถวายต้องให้เสร็จในวันนั้น กฐินชนิดนี้นานๆ จะมีคนทำ เพราะความยุ่งยากและต้องใช้คนมาก ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐิน ส่วนมหากฐินเป็นกฐินใหญ่ เป็นกฐินที่นอกจากจะมีผ้าไตรจีวรแล้ว ยังมีเครื่องบริวารกฐินอีกจำนวนมาก และใช้ระยะเตรียมงานมากกว่าจุลกฐิน แต่ก็เป็นที่นิยมทำกันเพราะมีความสะดวกพอสมควร
ประเภทของกฐินอีกอย่างหนึ่งคือ "กฐินหลวง" และ "กฐินราษฎร์" กฐินหลวงหมายถึงกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินไปทอดเอง หรือพระราชทานแก่หน่วยงานต่างๆ บริษัท ห้างร้าน พ่อค้า ประชาชนที่มีจิตศรัทธา นำไปถวายตามวัดที่เป็นพระอารามหลวงต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนกฐินราษฎร์หมายถึง กฐินที่ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาได้ชักชวนกันจัดทำขึ้น เพื่อนำไปถวายวัดต่างๆ ที่ได้จองไว้แล้ว ซึ่งกฐินราษฎร์นี้หมายถึง กฐินสามัคคีและกฐินที่ปัจเจกบุคคลด้วย

ในเรื่องของการทอดกฐินนี้ "ธงกฐิน" ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงให้รู้ว่าวัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว โดยเหตุที่ว่า วัดหนึ่งๆ นั้นรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว อีกในหนึ่ง ธงกฐินจะมีรูปสัตว์ ๓ - ๔ จำพวก เป็นสัญลักษณ์ คือ รูปจรเข ้ รูปตะขาบ รูปแมลงป่อง รูปนางกินร ีและรูปเต่าคาบดอกบัว
เรื่องธงกฐินนี้โดยใจความแล้วไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในหนังสือคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของกฐินอย่างชัดเจน
สาเหตุอาจจะเป็นเพราะนักปราชญ์อีสานโบราณท่านสอนคนหรือแนะนำคน จะไม่ใช้วิธีการที่บอกหรือกล่าวสอนกันตรงๆ มักจะใช้ทำนองที่ว่าเรียบๆ เคียงๆ เป็นลักษณะของปริศนาธรรม เช่น ลักษณะที่เด่นและเห็นชัดเจนคือ การใช้คำพูดในบทผญาหรืออีสานภาษิต ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงเรื่องกำลังพูดกันตรงๆ เช่นว่า "เจ้าผู้แพรผืนกว้างปูมาให้มันเลื่อมแด่เป็นหยัง สังมาอ่อมส่อมแพงไว้แต่ผู้เดียว แท้น้อ" ซึ่งสำนวนนี้ก็ได้พูดถึงความใจกว้างหรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

สำหรับรูปสัตว์ต่างๆ ธงกฐินนี้ท่านบอกสอนไว้ให้รู้ในลักษณะที่ว่า คนที่สามารถทำกฐินหรือเจ้าภาพทอดกฐินได้ ต้องเป็นคนจิตใจกว้าง มีความเสียสละเป็นอันมาก รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แม้กระทั้งสัตว์ที่มีพิษร้ายก็สามารถมาร่วมทำบุญได้ หรืออีกความหมายหนึ่งนักปราชญ์อีสานโบราณท่านอธิบายเปรียบเทียบกับโลภะ โทสะ โมหะ ได้ชัดเจนว่า
ธงกฐินอันดับแรก เป็นรูปจรเข้คาบดอกบัว หมายถึงความโลภ โดยปกติแล้วจรเข้เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำในบางช่วงขึ้นมานอนอ้าปากอยู่บนบกให้แมลงวันเข้ามาตอมอยู่ในปาก พอแมลงวันเข้าไปรวมกันหลายๆ ตัวเข้าจึงได้งับปากเอาแมลงเป็นอาหาร ท่านได้เปรียบถึงคนเราที่มีความโลภ ไม่มีความรู้สึกสำนึกชั่วดี ความถูกต้องหรือไม่ มีแต่จะเอาได้ท่าเดียว โดยไม่คำนึงว่าที่ได้มานั้นมีความสกปรกแปดเปื้อนด้วยความไม่ดีไม่งามคือ อกุศลหรือไม่ ผู้อื่นจะได้รับผลอย่างไรจากการกระทำของตนไม่ได้ใส่ใจ ดังนั้น ธงรูปจรเข้ท่านจึงได้เปรียบเหมือนกับคนโลภ ที่มันทำให้คนกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่มีช่องทางหรือโอกาส

ธงกฐินอันดับที่สอง เป็นรูปตะขาปหรือแมลงป่องคาบดอกบัว หมายถึงความโกรธ โดยธรรมชาติแล้ว สัตว์ทั้งสองอย่างนี้เป็นสัตว์ที่มีพิษร้าย ถ้าใครโดนตะขาปและแมลงป่องกัดหรือต่อยเข้าแล้วจะรู้สึกเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดเหล่านั้นมียาหรือของที่แก้ให้หายหรือบรรเทาปวดได้ ท่านได้เปรียบถึงโทสะ เพราะโทสะนี้เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นง่ายเกิดขึ้นเร็วและรุนแรง แต่ก็หายเร็วหรือที่เรียกว่า โกรธง่ายหายเร็ว โทสะหรือความโกรธ มีความเจ็บปวดและมีความเสียหายเป็นผล ดังนั้นท่านจึงเปรียบธงรูปตะขาปและธงรูปแมงป่องว่า เหมือนกับความโกรธ เพราะมีลักษณะคล้ายกันคือเกิดขึ้นง่าย เร็ว รุนแรง มีความเจ็บปวดและหายเร็วหรือมีทางที่จะรักษาให้หายได้
ธงกฐินอันดับที่สาม มีรูปเป็นนางกินรีถือดอกบัว หมายถึงความหลงหรือโมหะ โดยที่รูปร่างและศัพท์ที่ใช้เรียกก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว กินรี แปลว่า คนอะไร หรือสัตว์อะไร ดูไม่ออกบอกไม่ถูกว่าเป็นรูปสัตว์หรือรูปคนกันแน่ เพราะว่าท่อนล่างมีรูปเป็นปลา ท่อนบนมีรูปร่างเป็นคน ศัพท์ว่า กินรีมาจากภาษาบาลีว่า " กึ นรี" แต่ผ่านกระบวนการแปลงศัพท์ของภาษาบาลีเป็น "กินนรี" แปลว่า "คนอะไร" หรือว่า คนผู้สงสัย, ผู้ยังสงสัย หรือ ผู้ที่ค้นพบเห็นก็เกิดความสงสัย คือคนที่ไม่เป็นตัวของตัวเองนั่นเอง ทั้งทางด้านความคิด ทั้งทางด้านการกระทำหรือพฤติกรรม เพราะฉะนั้น กินนรี หรือ กินรี ท่านจึงเปรียบเสมือน โมหะ คือความหลงหรือผู้หลง ความลังเลสงสัยนั่นเอง
ธงกฐินอันดับสุดท้าย เป็นรูปเต่าคาบดอกบัว มีความหมายถึง ศีล หรืออินทรีย์สังวร (การสำรวมระวังอินทรีย์)
โดยปกติสัญชติญาณการหลบภัยของเต่าคือการหดส่วนต่างๆของร่างกายเข้าไว้ในกระดองอันตรายที่จะเกิดจากสัตว์ไม่ว่าจะมีรูปร่างใหญ่โตสักปานใด ก็ไม่สามารถที่จะทำอันตรายอะไรแก่เต่าได้ หรือสังเกตง่ายๆเวลาหมาเห่าเต่าก็จะเก็บอวัยวะส่วนต่างๆไม่ว่าจะเป็นหัว หางและขาไว้ภายในกระดอง หมาไม่สามารถทำอันตรายใดๆแก่เต่าได้ คนผู้ที่สามารถทำบุญกฐินให้ได้บุญจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่มีศีล คือ มีความสำรวมระวังไม่ให้ อกุศลเกิดขึ้น จากการที่อินทรีย์ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งอารมณ์ขัดเคือง หรือความไม่ได้ดั่งใจตนคิด อันทำให้เกิดความท้อถอยโดยการอาศัย ศีล คือความมั่นคงในตัวเอง นั่นเอง
ฮีต ๑๒ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ยังไม่ได้กล่าวถึงรายระเอียดปลีกย่อยต่างๆ เกี่ยวกับแต่ละฮีต เพราะว่าแต่ละท้องถิ่นก็มีความเชื่อในฮีตเดียวกันไม่ค่อยจะตรงกัน มีความแตกต่างกันในรายระเอียดปลีกย่อยอยู่พอสมควรแต่เมื่อพูดโดยภาพรวมของฮีต ๑๒ ก็เป็นไปในแนวทางอันเดียวกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
เรื่องฮีต ๑๒ นี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน ที่ได้ปฏิบัติสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ
ถึงแม้ว่าปัจจุบันนี้ฮีตหรือจารีตประเพณีบางอย่างในบางท้องถิ่นอาจจะไม่เหลือให้เห็น แต่ว่าบางท้องถิ่นก็ยังมีการรักษาปฏิบัติสืบต่อกันมาพอได้เห็นอยู่.ฯ

ประกวดชุด แฟนซี รีไซเคิล