ประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อ (Illuminated Boat Festival)
ประเพณีไหลเรือไฟเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวอีสานสืบทอดปฏิบัติใน เทศกาลออกพรรษา ทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตามแม่น้ำลำคลอง จังหวัดที่มีการไหลเรือไฟปัจจุบันคือ จังหวัดศรีสะเกษ สกลนคร นครพนม หนองคาย เลย มหาสารคาม และอุบลราชธานี โดยเฉพาะชาวนครพนมนั้นถือเป็นประเพณีสำคัญมาก เมื่อใกล้จะออกพรรษาชาวบ้านจะแบ่งกันเป็น "คุ้ม" โดยยึดถือเอกชื่อวัดใกล้บ้านเป็นหลักในการตั้งชื่อคุ้ม เช่น ถ้าอยุ่ใกล้วัดกลางก็จะเรียกกันว่า "ชาวคุ้มวัดกลาง" ชาวคุ้มวัดต่าง ๆ ก็จะจัดให้มีการแข่งเรือ ส่วงเฮือ แห่ปราสาทผึ้ง และการไหลเรือไฟ ส่วนในจังหวัดมหาสารคามนั้นได้จัดขึ้นทุกปี เรียกว่า "งานประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อ"
เรือไฟ หรือภาษาถิ่นเรียกกันว่า "เฮือไฟ" นี้เป็นเรือที่ทำด้วยต้นกล้วยท่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ ต่อเป็นลำเรือยาวประมาณ 5 - 6 วา ข้างในบรรจุขนม ข้าวต้มผัดหรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทาน ข้างนอกเรือมีดอกไม้ ธูปเทียน ตะเกียง ขี้ไต้ สำหรับจุดให้สว่างไสวก่อนจะปล่อยเรือไฟ ซึ่งเรียกว่า การไหลเรือไฟ หรือ ปล่อยเฮือไฟ
• มูลเหตุของการไหลเรือไฟ นั้นมีคตินิยมเช่นเดียวกับการลอยกระทง แต่เป็นการลอยกระทงก่อนที่อื่น 1 เดือน โดยมีความเชื่อกันหลายประเด็นคือ
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชารอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพระรัตนตรัย
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาคุณพระแม่คงคา
- ความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาค
ที่บริเวณสนามกลางบ้านท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามชาวบ้านท่าขอนยางร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามจัดประเพณีไหลเรือไฟ ออกพรรษาชาวไทญ้อทั้ง 15 หมู่บ้าน เพื่อสืบสานประเพณีที่ดีงาม สำหรับการจัดงานประเพณีไหลเรือไฟไทญ้อเนื่องในวันออกพรรษาในนั้นได้จัดสืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี สำหรับการไหลเรือไฟไทญ้อนั้นเนื่องจากชาวชุมชนท่าขอนยางเดิมที่เป็นชาวญ้อที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งบ้านพักอาศัยอยู่ที่บริเวณดังกล่าว โดยใช้ชื่อว่าบ้านท่าขอนยาง ปัจจุบันมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน
พิธีและกิจกรรม
ก่อนถึงวันงานไหลเรือไฟ ชาวคุ้มวัดจะช่วยกันประดิษฐ์ตกแต่งเรือไฟด้วยต้นกล้วย ไม้ไผ่หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถลอยน้ำได้ ให้มีรูปร่างลักษณะเหมือนเรือมีความยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร จะประดิษฐ์เป็นรูปเจดีย์ วิหาร หงส์ นาค ครุฑ หรือรูปอย่างใดก็ได้ที่คิดว่าสวยงาม มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อความสวยงามและเพื่อให้การจุดประทีป โคมไฟอยู่ได้ทนทาน เมื่อถึงวันงาน ภาคกลางวันก็จะมีขบวนแห่ไหลเรือไฟบก ซึ่งนำขึ้นไปวางบนพาหนะล้อเลื่อนต่าง ๆ แล้วเข้าขบวนแห่แหนทุกคุ้มวัดพร้อมกัน
โดยมีการแสดงพื้นบ้านประกอบขบวนอย่างสนุกสนานสวยงาม การแห่ขบวนตำนานงานประเพณีออกพรรษา การแสดงวิถีชาวญ้อที่อาศัยอยู่ในตำบลท่าขอนยาง และในขบวนแห่เรือไฟในภาคกลางคืน ก็จะมีการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น กราบพระ รับศีล ฟังเทศน์ และการกล่าวบูชารอยพระพุทธบาท ต่อจากนั้นจึงนำเรือไฟไปลงน้ำ และเริ่มจุดประทีปโคมไฟแล้วปล่อยให้ล่องไปตามแม่น้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในบทบาทขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และเผยแพร่ประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้อย่างกว้างขวางต่อไป
• MV ไหลเรือไฟ ท่าขอนยาง
ขอบคุณแหล่งข้อมูล, ภาพ, วีดีทัศน์ : • สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดมหาสารคาม
• ประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคาม
• การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Special Thanks :
• ภาพถ่าย คุณ NOI_BLUESKY
• ชมรมถ่ายภาพมหาสารคาม
• MV ไหลเรือไฟ ท่าขอนยาง คุณ mkhospital
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น